รู้ให้ทัน 18 มงกุฏโชเชียล ปั่นดราม่าขอเงินบริจาค ฉุกคิดก่อนคิดแชร์

  • 11 พ.ค. 2563
  • 876
หางาน,สมัครงาน,งาน,รู้ให้ทัน 18 มงกุฏโชเชียล ปั่นดราม่าขอเงินบริจาค ฉุกคิดก่อนคิดแชร์

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบัน โซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างมาก ด้วยความสะดวกในการเข้าถึงข่าวสาร สามารถแชร์ข้อมูลถึงกันได้อย่างรวดเร็ว แต่ภายใต้ความรวดเร็วความสะดวกสบายนั้นอาจแฝงซึ่งกลลวงของเหล่ามิจฉาชีพ เฉกเช่นหลายเหตุการณ์ที่มีการนำเสนอเรื่องราวความเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต รวมไปถึงสัตว์พิการเจ็บป่วย แล้วเกิดการแชร์ต่อกันเป็นวงกว้าง นำมาซึ่งการระดมเงินช่วยเหลือจากผู้ใช้สื่อออนไลน์ โดยที่ผู้ใช้สื่อออนไลน์ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า เรื่องราวเหล่านั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่

อาทิ กรณีที่เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันกระหึ่มโลกโซเชียล เมื่อหญิงสาวโพสต์ภาพอ้างป่วยเป็นเชื้อราที่ไขกระดูก ขอรับเงินบริจาค เพื่อรักษาลูกสาวที่ป่วยเป็นมะเร็งในเม็ดเลือดแดง และมักจะโพสต์ภาพรูปลูกสาวที่มีสภาพนอนหลับ มีข้อความทำนองท้อแท้อยากฆ่าตัวตาย มีผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมาก จนได้รับเงินบริจาคนับแสนบาท จากข้อมูลที่หญิงสาวโพสต์ทำให้ชาวเน็ตตั้งข้อสังเกต จับผิดภาพและขุดคุ้ยหาความจริง ในที่สุดเจ้าตัวออกมายอมรับว่ากุเรื่องขึ้นเพื่อหาเงินใช้หนี้ พร้อมขอโทษชาวเน็ตที่แชร์ข้อมูลออกไปจนได้รับเงินบริจาค ก่อนปิดเฟซบุ๊กไป

ดูหากย้อนกลับไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ประเด็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยข้อกังขาเกี่ยวกับสุนัขสายพันธุ์ปั๊กที่ถูกนำมาโพสต์ลงในสื่อสังคมออนไลน์ว่า ถูกโรคจิตล่วงละเมิดทางเพศจนป่วยเป็นโรคร้าย นำมาซึ่งการเรี่ยไรเงินบริจาค หลังจากเรื่องราวกลายเป็นกระแส ก็มีการตั้งข้อสงสัยต่อกรณีนี้ถึงความไม่ชอบมาพากลในหลายอย่างที่เกิดขึ้น กระทั่งเรื่องเงียบหายไป

 

 

 

ระวังโดนหลอกจากการใช้สื่อออนไลน์โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง

เปิดประสบการณ์นักบุญ VS คนบาปลวงโลก 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เล็งเห็นว่าเรื่องราวเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อมูลนิธิต่างๆ ที่ประสงค์ต่อการช่วยเหลืออย่างแท้จริง จึงได้ติดต่อไปยัง บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ อาสาสมัครของมูลนิธิร่วมกตัญญู เจ้าของเพจ "บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์" ที่มักจะโพสต์ภาพการลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้คนเจ็บคนป่วยเป็นเวลากว่า 4 ปี เปิดเผยว่า มีผลกระทบต่อการช่วยเหลืออยู่บ้าง เนื่องจากเขาไม่เคยมีการระดมเงินทุนจากประชาชน เป็นเพียงการนำเงินจำนวนหนึ่งไปให้คนเจ็บ แล้วต่อยอดโดยนำเลขบัญชีของคนเจ็บมาโพสต์ลงหน้าเพจเท่านั้น เมื่อมีมิจฉาชีพใช้โลกโซเชียลหลอกลวงเอาทรัพย์ อาจจะให้ผู้ที่รอความช่วยเหลือจริงๆ ไม่ได้รับช่วยเหลือ

 

 

บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ อาสาสมัครของมูลนิธิร่วมกตัญญู

 

"คนเราเมื่ออยากช่วยเหลือด้วยใจ แล้วกลับมารู้ว่าถูกหลอก อีกหน่อยคนก็ไม่อยากจะทำบุญอีก ส่วนคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ก็อาจจะไม่ได้รับความช่วยเหลือ ผลกระทบจึงเกิดกับคนที่อยากช่วยเหลือกับคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ เท่านั้น" บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ กล่าว

บิณฑ์ ยังเล่าให้ทีมข่าวฟังอีกว่า เคยโดนแอบอ้างโดยมีผู้ไม่หวังดีโทรไปที่เบอร์ของคนเจ็บที่เคยโพสต์ไว้ที่หน้าเพจเฟซบุ๊ก แล้วบอกกับทางคนเจ็บว่าโอนเงินเกินไปที่บัญชีของคนเจ็บหนึ่งหมื่นบาท อยากให้โอนช่วยโอนเงินคืนมาเก้าพันบาท เพราะจริงๆ เขาต้องการทำบุญเพียงหนึ่งพันบาทเท่านั้น ใช้คำพูดขู่เอาความกระทั่งฝ่ายคนเจ็บยอมโอนเงินคืนไปให้ ซึ่งเมื่อทางบิณฑ์รับทราบเรื่อง ก็ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง กลับพบว่าไม่มีการโอนเงินจำนวนหนึ่งหมื่นบาทแต่อย่างใด หลังจากนั้นบิณฑ์จึงแก้ไขปัญหาด้วยการแนะนำผู้บริจาคและผู้รับการบริจาคให้ตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ แต่ก็ยอมรับว่าการแก้ไขปัญหายังเป็นไปได้ยาก

 

 

เพจ "บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์" แชร์ข่าวสารเพื่อสังคม

 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ยังติดต่อไปยัง อาจารย์ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ เปิดเผยกับทีมข่าวว่า ในปัจจุบันมีการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อหลอกลวงประชาชนในโลกออนไลน์อยู่เป็นจำนวนมาก เฟซบุ๊กและไลน์เป็นช่องทางที่มีการส่งต่อข้อความที่เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องมากที่สุด อาศัยเรื่องที่เป็นกระแสในสังคม ให้เหตุผลว่าคนส่วนใหญ่เชื่อว่าการส่งต่อข้อมูลผ่านไลน์หรือเฟซบุ๊กมีความปลอดภัย สามารถรู้ได้ว่าผู้ส่งเป็นใคร ขณะเดียวกันมิจฉาชีพกลับใช้ช่องทางเหล่านี้ในการหลอกลวงประชาชน โดยการสร้างเรื่องราวให้เป็นกระแส แล้วเกิดการส่งต่อเป็นวงกว้าง ทำให้จับกุมตัวได้ยาก แต่ในความเป็นจริงสามารถตรวจสอบได้ โดยยืนคำร้องต่อศาล

 

 

อาจารย์ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์

 

"คนส่วนใหญ่เชื่อว่าการส่งต่อข้อความผ่านไลน์และเฟซบุ๊กมีความปลอดภัย ข้อความที่มิจฉาชีพสร้างให้เกิดกระแสแล้วถูกแชร์ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ทราบว่าผู้ส่งจริงๆ เป็นใคร ตรงนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะความเป็นจริงแล้ว เมื่อมีการส่งต่อข้อมูล ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ต้องมีการจัดเก็บข้อมูล ที่เรียกว่าข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นเจ้าของข้อความนั้น โดยวิธีการตรวจสอบคือยื่นคำร้องต่อศาลในการที่จะตรวจสอบ โดยให้ ISP (Internet Service Provider) ผู้บริการหรือว่ามือถือทำการตรวจสอบได้" อาจารย์ไพบูลย์กล่าว

แนะตั้งสติ ตรวจสอบที่มา ก่อนกดแชร์ มิฉะนั้น ตร.อาจมาถึงหน้าบ้าน!

อาจารย์ไพบูลย์ แนะนำวิธีสังเกตและป้องกันเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อกลโกงของมิจฉาชีพในโลกออนไลน์ว่า หากข้อความนั้นมีการกล่าวถึงบุคคลที่สาม อย่างเช่น นาย ก. มีการโพสต์ข้อความว่า นาย ข.ป่วย ต้องการความช่วยเหลือ ในลักษณะนี้อย่าทำการแชร์ออกไปในทันที ควรทำการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าวหรืออาจจะตรวจสอบจากกูเกิล โดยการคีย์เวิร์ดในข่าวนั้นว่าเป็นข่าวจากสำนักข่าวที่มีน่าเชื่อถือหรือไม่ ถ้าพบว่าข้อเท็จจริงยังไม่ชัดเจน ไม่ควรส่งต่อข้อมูลใดๆ

 

 

ปัญหาการโดนหลอกจากการแชร์ข้อมูลในโลกออนไลน์ เป็นเรื่องใกล้ตัว

 

อาจารย์ไพบูลย์ กล่าวถึงโทษความผิดกรณีหลอกลวงประชาชน จะมีโทษความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ฐานความผิดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน หากผู้ใช้ส่งต่อข้อมูลยังไม่ทราบข้อเท็จจริงแล้วยังส่งต่อ จะมีโทษความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เช่นเดียวกันใน มาตรา 14 (5) ฐานความผิดเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"เมื่อรู้ว่าไม่ถูกต้องหรือเป็นเท็จแล้วยังแชร์ มีข้อสังเกตว่าถึงแม้กฎหมายจะบอกว่าจะผิดก็ต่อเมื่อรู้ว่าเป็นข้อมูลเป็นเท็จแล้วเราแชร์ แต่ความเป็นจริงเมื่อถูกตรวจสอบพบ IP Address ที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต หรือว่าเบอร์มือถือเป็นของเรา ตรงนี้ก็ต้องไปชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพิสูจน์ในชั้นศาลเรื่องของเจตนา ซึ่งจะเป็นประเด็นปัญหาพอสมควร จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องระมัดระวังกันมากขึ้น" ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ กล่าว

 

 

คนใช้สื่อโซเชียลมีเดียมาก ทำให้มิจฉาชีพหากินให้โลกออนไลน์

 

ปัญหาการโดนหลอกจากการแชร์ข้อมูลในโลกออนไลน์ เป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับชาวเน็ตที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการนำเอาความน่าสงสารมาเป็นกลไกในการเรียกเอาทรัพย์สินจากผู้ใช้โดยสมัครใจ เพราะทุกวันนี้ยังมีประชาชนตกเป็นเหยื่อจำนวนไม่น้อย ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้ใช้สื่อออนไลน์ต้องฉุกคิดกันอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพที่แฝงตัวมาบนโลกออนไลน์.

 

 

อย่าเพิ่งแชร์ออกไปในทันที ควรทำการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์ 

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top