เหตุผลที่ทำให้พนักงาน หมดไฟในการทำงาน

  • 04 ส.ค. 2566
  • 2364
หมดไฟในการทำงาน,Burnout Syndrome

ปัญหายอดฮิตของมนุษย์เงินเดือน คงหนีไม่พ้นภาวะ หมดไฟ ในการทำงาน (Burnout Syndrome) ซึ่งองค์กรได้รับผลเสียไม่น้อย เพราะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง พนักงานบางคนก็ยอมลาออกไป แต่บางคนก็ยังคงทำงานไปด้วยความรู้สึก หมดไฟ แบบนั้นต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่ทำให้พนักงาน หมดไฟ ก็มักมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในองค์กร หากมีการแก้ไข ก็ไม่ได้แค่ช่วยลดการเกิดภาวะ หมดไฟ ให้กับพนักงาน แต่สิ่งที่องค์กรจะได้มากกว่าก็คือ ประสิทธิภาพและคุณภาพงานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงลดอัตราการลาออกของพนักงานอีกด้วย

 

ภาวะ หมดไฟ จึงเป็นปัญหาที่องค์กรไม่ควรมองข้าม แต่ควรเร่งแก้ไข เพื่อความสุขในการทำงานและโอกาสในการเติบโตขององค์กร

 

แล้วองค์กรจะแก้ไขได้อย่างไรบ้าง เรามาดูเหตุผลของการ หมดไฟ พร้อมวิธีแก้ทีละข้อกันเลยค่ะ

 

1 มีการเมืองในองค์กร ค่าของคนอยู่ที่คนของใคร : ทำดีแค่ไหน ถ้าไม่ใช่ลูกรักหรือน้องรัก ก็ไม่เกิดผลอะไร อยู่ต่อไปก็ไม่เติบโต ใครก็ หมดไฟ ทั้งนั้นค่ะ

 

วิธีแก้ : เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับเบอร์หนึ่งขององค์กร ต้องเด็ดขาดในการแก้ไขและต้องเป็นกลาง HR ควรนำเสนอให้ทางผู้บริหารรับทราบถึงผลเสียที่เกิดขึ้นกับองค์กร และผลลัพธ์ที่จะได้ หากปัญหานี้หมดไป

 

2 งานเยอะ เงินเดือนน้อย โอทีไม่มี วันหยุดทวงงาน : คนทำงานล้วนต้องการผลตอบแทนที่คุ้มค่า แต่เมื่อผลที่ได้ ทั้งเงินเดือนไม่คุ้มแล้ว ยังต้องเหนื่อยกว่าที่ควรเป็นอีก ไม่ใช่แค่จะ หมดไฟ แต่จะหมดใจในการทำงานด้วย

 

วิธีแก้ : องค์กรต้องบริหารจัดการเรื่องค่าตอบแทนและปริมาณงานให้เหมาะสมกับแต่ละตำแหน่งงาน รวมถึงตกลงกันเรื่องเวลาการติดต่อสื่อสารด้วย ถ้าจะติดต่อตลอดเวลา ก็ต้องตอบแทนให้คุ้มสำหรับเขาด้วย

 

การไม่จ่ายโอที ผิดกฎหมายนะคะ (ค่าล่วงเวลาในวันทำงาน พนง.รายเดือนและรายวัน ต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง ถ้าไม่จ่ายหรือจ่ายน้อยกว่า ลูกจ้างมีสิทธิ์ฟ้อง)

 

3 ทำผลงานดี เงินเดือนไม่ขึ้น โบนัสไม่มี : เป็นการไล่คนเก่งออกจากองค์กรโดยตรงเลย เมื่อองค์กรไม่เห็นคุณค่าในตัวเขา เขาก็ต้องไปองค์กรอื่นที่มองเห็นเขาค่ะ

 

วิธีแก้ : พนักงานที่เก่ง ผลงานโดดเด่น โดยเฉพาะตำแหน่งที่หายากและสำคัญต่อองค์กร ต้องมีการประเมินผลและการตอบแทนที่จูงใจพิเศษ เพื่อให้เขาอยากอยู่ต่อและทำผลงานให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ 

 

4 เพื่อนร่วมงาน Toxic เจอแต่พลังงานลบ : โดยเฉพาะคนที่เป็นหัวหน้า หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงานระดับเดียวกัน ส่วนใหญ่คน Toxic มักจะอยู่ในองค์กรได้ยาวนาน แต่คนใหม่เข้ามาอยู่ได้ไม่นานก็ลาออก

 

วิธีแก้ : องค์กรต้องมีความเป็นกลาง หากคนไหนมีพฤติกรรม Toxic ก็ต้องตักเตือน กฎระเบียบต้องใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

 

5 หัวหน้าไม่สอนงาน ไม่สนับสนุนความสามารถ : เจอแบบนี้ก็ หมดไฟ ตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปทำงานเลย แย่กว่านั้นคือ การดูถูก ขโมยงาน หรือโยนความผิดให้ลูกน้อง คือหัวหน้าที่ทุกคนไม่อยากเจอที่สุด

 

วิธีแก้ : องค์กรต้องให้ความสำคัญมาก ๆ ในการคัดเลือกคนที่เป็นหัวหน้าที่เหมาะสม และหากเขาทำพฤติกรรมที่ไม่ดี ก็ต้องตักเตือนและลงโทษตามระเบียบ

 

6 เข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ : เงินเดือนน้อย แต่เพื่อนร่วมงานดี ก็ชวนให้คนอยากทำงานในองค์กรต่อได้แบบยาว ๆ แต่ถ้าทุกอย่างดีหมดยกเว้นเพื่อนร่วมงาน ก็ทำคน หมดไฟ ทันที

 

วิธีแก้ : องค์กรควรมีนโยบายให้พนักงานได้สนิทกันและร่วมงานกันได้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะเวลารับคนใหม่เข้ามา หรือแม้จะทำงานด้วยกันนานแล้ว ก็ต้องคอยสังเกตว่ามีปัญหาเกิดขึ้นรึเปล่า จะได้แก้ไขได้ทันเวลา

 

7 ไม่รู้เป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน : อยู่ในสถานการณ์ที่ทำงานพอให้เสร็จไปแต่ละวัน ไฟในการทำงานก็ลดลงเรื่อย ๆ และระหว่างนั้นก็หางานใหม่ไปด้วย

 

วิธีแก้ : ต้องสื่อสารให้พนักงานแต่ละตำแหน่งเข้าใจชัดเจน ว่าเป้าหมายการทำงานของเขาคืออะไร ทำแล้วองค์กรได้อะไร ที่สำคัญคือ เมื่อพนักงานทำสำเร็จตามเป้าหมาย เขาจะได้อะไร

 

8 ไม่ได้ทำงานที่สำคัญต่อองค์กร : ไม่ว่าใครก็อยากทำงานที่มีคุณค่า อยากเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อองค์กร เพราะมันคือแรงใจในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ

 

วิธีแก้ : องค์กรต้องบริหารจัดการให้ทุกตำแหน่งงานเป็นงานที่สำคัญและมีคุณค่าต่อการเติบโตขององค์กร พร้อมสื่อสารให้คนทำงานเข้าใจอย่างชัดเจนด้วย ก่อนที่เขาจะหมดใจและ หมดไฟ ที่จะอยู่ในองค์กรต่อไปค่ะ

 

สมัครเรซูเม่ ฟรี

หางานทั่วไทย เปิดรับสมัครกว่า 47,000 ตำแหน่งงาน

อัปเดตความรู้สำหรับคนหางาน คนทำงาน สามารถติดตามได้ที่ https://jobbkk.com/go/kr0ws

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top