ผู้สมัครงาน
รายได้ หมายถึง จำนวนเงินเดือน + ค่าคอมมิชชั่น + เงินอื่นๆ ของตำแหน่งนั้น เช่น เบี้ยขยัน OT เป็นต้น ส่วนใหญ่จะระบุจำนวนสูงสุดที่ตำแหน่งนั้นสามารถทำได้ เพื่อจูงใจให้ผู้สมัครงานสนใจ แต่ถ้ามาทำงานแล้ว จะทำได้สูงเท่าที่ประกาศหรือไม่ก็อยู่ที่ผลงาน สรุปคือ จำนวนเงินที่ได้ทุกเดือนอาจน้อยกว่าจำนวนรายได้ที่ระบุในประกาศนั่นเองครับ
นอกจากนี้ ประกาศที่ระบุคำว่ารายได้ ก็อาจเป็นงานที่ไม่มีเงินเดือนเลย ขึ้นอยู่กับผลงานล้วน ๆ แต่ผู้ประกาศก็จะเลือกระบุจำนวนสูงสุดที่ตำแหน่งนั้นสามารถทำได้เช่นกัน หรืออาจระบุเป็นช่วงเช่น เริ่มต้น-สูงสุด ผู้สมัครอาจเข้าใจผิดว่าคือเงินเดือน เพราะส่วนใหญ่ในประกาศจะไม่ลงรายละเอียดอยู่แล้ว หรือบางประกาศก็อาจใช้คำว่า การันตีรายได้ XX,XXX – XX,XXX บาท
ทั้งนี้ เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริง ถ้าคุณต้องการความชัดเจน เมื่อเขาโทรมาต้องสอบถามเลยครับ รายได้คือแบบไหน มีเงินเดือนหรือไม่ ถ้ามีคือเท่าไร ถ้างานนั้นไม่ใช่ที่ต้องการ จะได้ไม่เสียเวลาไปสัมภาษณ์ครับ
เงินเดือน จะมี 2 กรณี คือ...
1 เช่น ระบุ 18,000 – 20,000 บาท ก็คือช่วงของเงินเดือนที่ตำแหน่งนั้นจะได้รับทุกเดือน แต่สุดท้ายจะได้เท่าไรก็ต้องสัมภาษณ์อีกที ถ้าตกลงกันที่ 20,000 บาท คุณก็ได้เท่านี้ทุกเดือนครับ
แต่บางประกาศอาจมีการระบุเงินเดือนเกินจริง เพื่อดึงดูดให้คนสนใจจำนวนมาก พอไปสัมภาษณ์ก็กลายเป็นว่าให้น้อยกว่า หรือถ้าไม่ได้ระบุเกินจริง แต่ผู้สมัครมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนในระดับที่จะรับเงินเดือนได้ตามประกาศ ซึ่งบริษัทพิจารณารับเข้าทำงานแต่สามารถให้เงินเดือนได้ตามคุณสมบัติเท่านั้น และถ้าผู้สมัครรับงานพร้อมมีผลงานให้เห็นความสามารถที่สูงขึ้น ก็อาจมีโอกาสได้ขึ้นเงินเดือนเมื่อผ่านโปรครับ
ดูรายละเอียดเรื่องการให้เงินเดือนน้อยกว่าในประกาศ ได้ที่นี่ >> https://jobbkk.com/go/sCkbT
2 การนำจำนวนเงินเดือน รวมกับค่าคอมมิชชั่นและสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งเป็นจำนวนรวมสูงสุดที่ตำแหน่งนั้นสามารถทำได้ แต่ในประกาศอาจใช้คำว่า “เงินเดือน” (ซึ่งผู้ประกาศอาจยังไม่ชัดเจนในความหมายของคำว่า “เงินเดือน” กับ “รายได้”) เช่น 20,000 – 100,000 บาท แต่เงินเดือนจริงอาจไม่ถึง 2 หมื่น หรือบางงานก็อาจไม่มีเงินเดือนเลย แต่ก็มีโอกาสไปถึงหลักแสน ซึ่งก็อยู่ที่ผลงานในแต่ละเดือนครับ
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด เบื้องต้นควรอ่านประกาศงานให้ละเอียด โดยเฉพาะสายงานขาย บางประกาศงานก็ระบุครับ ว่าค่าคอมขึ้นอยู่กับผลงาน และสุดท้ายที่ขอย้ำเสมอ ควรสอบถาม HR ให้แน่ใจทุกประเด็น ทั้งเรื่องคุณสมบัติผู้สมัคร จำนวนเงินเดือน หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความต้องการของคุณ ก่อนจะตัดสินใจไปสัมภาษณ์ครับ
อย่างไรแล้ว การสอบถามในสิ่งที่ยังไม่ชัดเจน หรือเพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับการตัดสินใจทำงานเป็นเรื่องที่สมควรพูดครับ จะได้ไม่ผิดหวังตอนที่เข้าไปทำงานแล้ว ผู้สมัครไม่ควรเกรงใจหรือกลัวการถาม และ HR ก็ไม่ควรหงุดหงิดหรือติดลบผู้สมัครที่สอบถามข้อมูลด้วยครับ
เครดิตข้อมูล : อาจารย์ พรเทพ พงษ์สง่างาน ที่ปรึกษาอาวุโสด้าน HR และกรรมการ บริษัท เซ็นเมนทอร์ จำกัด ,กรรมการบริหาร APK Management Center
Website : www.senmentor.com
Line : wisebrown
Tel : 081-820-9271
หางานด่วน เปิดรับกว่า 157,188 อัตรา คลิก >> https://jobbkk.com/go/YtvVO
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved