ผู้สมัครงาน
วันแห่งความโศกเศร้าที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น การสูญเสียคนรักไปอย่างที่ไม่มีวันกลับนั้นเป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก
แต่เมื่อไม่มีใครหนีพ้น คนเป็นเจ้าภาพคงต้องนึกถึงการจัดงานศพ ส่วนผู้มาร่วมงาน สิ่งทำได้ดีที่สุด คือ แสดงความอาลัยต่อผู้ล่วงลับด้วย “พวงหรีด” ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว มักเป็นโครงทรงกลม ประดับด้วยดอกไม้หลากสี เขียนคำไว้อาลัยต่อท้ายด้วยชื่อผู้ให้ วางไว้จนกว่างานจะเส็จสิ้น
แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทุกวันนี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานศพตามแต่รสนิยมของเจ้าภาพซึ่งรวมถึง…พวงหรีด ด้วย
“ด้วยความคนที่ชอบทำงาน DIY นำสิ่งของต่างๆมาผสมผสานให้เป็นของใหม่ขึ้นมา เลยอยากทำพวงหรีดจากตุ๊กตาตัวหนึ่งที่แทนความหมายของคำว่าห่วงใยและไม่อยากให้เศร้า เลยทำรูปแบบสีสันสดใส สนุกสนาน ทำให้หายเศร้า สะท้อนว่า อย่าเศร้าเลย มีชีวิตต่อไปเถอะ คนที่อยู่ก็ยังดำเนินชีวิตต่อ”
คุณเต้าหู้ ณฤต เลิศอุตสาหกูล นักออกแบบอิสระในนาม HOO DIY ชายหนุ่มผู้หลงรักงาน DIY เป็นชีวิตจิตใจ ดีกรีปริญาตรีและโท สาขาออกแบบตกแต่งภายใน คณะมัณฑณศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าให้ฟังว่า
พวงหรีดที่ทำจากห่วงยางสีชมพูอยู่บนหัวตุ๊กตา ชื่อว่า Tube Doll หรือ ตุ๊กตาเป็นห่วง เป็นงานศิลปะในแบบของเขา ที่ส่งเข้าร่วมแสดงในนิทรรศการงานศิลปะ ซึ่งจัดไปเมื่อไม่นานมานี้ โดยนิทรรศการดังกล่าว มีนักออกแบบกว่า 20 ชีวิต มาร่วมกันออกแบบผลงานศิลปะรูปทรงพวงหรีด ช่วยเตือนสติให้ผู้ชมงานดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท
เมื่อถามว่าพวงหรีดในแบบ “ฉีกกรอบ” จากแบบเดิมๆที่นำมาจัดแสดงกันนั้น สามารถนำไปใช้งานหรือผลิตขายได้จริงหรือไม่ คุณเต้าหู้ ให้ความเห็นว่า พฤติกรรม มุมมองของคนสมัยนี้เปลี่ยนแปลงไปเป็นไปจากเดิม การสร้างสรรค์สิ่งใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ
คุณเต้าหู้ กับผลงานพวงหรีด “ห่วงยาง ห่วงใย”
ผลงานพวงหรีด Tube Doll มีข้อดีคือ ประหยัดพื้นที่การขนส่ง แค่เป่าลมให้พอง เสียบปลั๊กต่อไฟกระพริบให้สวยงาม แล้วนำมาตั้งในงานศพหรืออาจนำมาใช้ใหม่อีกครั้งได้ สามารถไปต่อยอดเป็น knock down สามารถถอดได้เป็นท่อนๆ แล้วเอาไปประกอบทีหลังได้ เปลี่ยนแนวคิดว่าพวงหรีดต้องมีในลักษณะดอกไม้ตกแต่งเท่านั้น
และหากมีใครอยากทำออกมาขายจริง อยากให้ใช้วัสดุเหลือใช้ ไม่มีต้นทุนมาก แต่ถ้าเป็นต้นทุนจริงๆ มีตัวห่วงยาง หาได้ทั่วไปราคา 50-60 บาท ขึ้นอยู่กับสีสัน แต่ถ้าจ้างพิมพ์ลวดลายพิเศษ มีช่อดอกไม้ประดับหรือเพิ่มช่องให้ใส่คำไว้อาลัย สามารถเพิ่มมูลค่าได้ ต้นทุนอาจอยู่ราว 100-500 บาท ขึ้นอยู่ปริมาณในการผลิต
หรือหากคนที่อยู่ไกลอาจจัดส่งพวงหรีดในรูปแบบพัสดุ เมื่อถึงงานสามารถหยิบขึ้นมาเป่า เหมือนกับงานแต่งงานที่ส่งการ์ดเป็นอีเมล์หรือเฟซบุ๊กแทนการใส่ซองทำให้สะดวกมากยิ่งขึ้น
ส่วนในแง่ของการประหยัดวัสดุ พวงหรีดทั่วไปที่ประดับด้วยดอกไม้ติดกับโฟมเมื่องานจบใช้แล้วทิ้งไป ไม่สามารถนำมารีไซเคิลใหม่ได้ แต่หากเป็นห่วงยางสามารถนำมาใช้ใหม่ได้ในงานอื่นๆ อาจให้วัด หรือบริจาคให้กับเด็กๆได้ใช้ประโยชน์ ในการนั่งเรือหรือว่ายน้ำ ซึ่งคิดว่าสามารถทำขึ้นได้จริงในอนาคต แต่การนำไปมอบในงานศพนั้นๆ ต้องคำนึงถึงกาลเทศะและเจ้าภาพที่จัดงานว่าเห็นด้วยหรือไม่
“ทุกวันนี้ หลายคนไม่มีเวลาไปงานศพ จึงจำเป็นต้องไปจ้างทำพวงหรีด ซึ่งพวงหรีดของทุกคนก็คล้ายกันไปหมด ไม่ได้บ่งบอกถึงรายละเอียดความรู้สึกที่มอบให้ไปตรงนั้น แต่ถ้าได้ทำเองมันเป็นการใส่ใจลงไปยิ่งมีคุณค่ามากกว่าใช้เงินไปซื้อพวงหรีดมามอบให้”
ท้ายสุดศิลปินหนุ่มให้แง่คิดไว้ด้วยว่า...
การออกแบบพุทธศิลป์ในเชิงพาณิชย์ เป็นเรื่องของการออกแบบบนฐานของความเชื่อ การตลาดซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์อยู่แล้ว ในยุคใหม่ สินค้าของใช้ที่เกี่ยวกับพุทธศิลป์นั้น ย่อมเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย อาจเกิดสิ่งใหม่ได้ทั้งในแง่ดีและไม่ดี แต่หลักสำคัญที่สุด ควรเลือกใช้และเลือกทำให้เหมาะกับเหตุและผลรวมทั้งแก่นของศาสนาด้วย
ท่านใดอยากได้คำแนะนำดีๆ จากนักอออกแบบรุ่นใหม่ท่านนี้ เผื่อบางทีอาจนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจ ติดต่อพูดคุยได้ที่
E-mail : e_hooo@hotmail.com
Facebook : Hoo DIY
Instagram : hoo_diy
ขอบคุณภาพและข้อมูล www.sentangsedtee.com
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved